BlogPensook Digital SolutionWordPress101แนะนำให้รู้จัก WordPress

แนะนำให้รู้จัก WordPress

WordPress คืออะไร

WordPress คือเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ที่ใช้งานง่ายและไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ (Zero Code) คุณสามารถออกแบบเว็บไซต์ เพิ่มบทความ รูปภาพ และจัดการเนื้อหาทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรมเลยก็ตาม

Zero Code: หมายถึงการสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันโดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดหรือมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม ทำให้ผู้ที่ไม่มีทักษะทางเทคนิคสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น

ทำไมควรใช้ WordPress

แนะนำให้รู้จัก WordPress คือ

  1. ประหยัดค่าใช้จ่าย
    ใครๆ ก็สามารถดาวน์โหลด WordPress มาใช้งานได้ฟรี เพราะเป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส (Opensource) จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างโปรแกรมเมอร์ เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเองทันที
  2. ไม่ต้องเขียนโค้ดให้ยุ่งยาก
    WordPress ช่วยให้การสร้างเว็บไซต์เป็นเรื่องง่าย แม้ไม่มีทักษะการเขียนโค้ด ด้วยการใช้ส่วนประกอบที่เตรียมไว้ให้แล้ว คุณสามารถลากและวางชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อสร้างเว็บไซต์ได้ตามที่ต้องการ
  3. มีฟังก์ชันมากมาย
    WordPress มีปลั๊กอินที่หลากหลายจากนักพัฒนาทั่วโลก ซึ่งทำให้เราสามารถเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ บนเว็บไซต์ได้ง่ายๆ เช่น ระบบอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) หรือระบบจอง (Booking) เพียงค้นหาและติดตั้งปลั๊กอินที่ต้องการ
  4. อัปเดตเนื้อหาได้ง่าย
    WordPress ใช้งานง่ายและรองรับทุกอุปกรณ์ คุณสามารถเพิ่มข้อมูลหรืออัปเดตเนื้อหาได้ทุกที่ ทุกเวลา และหากเกิดข้อผิดพลาดในการแก้ไขหรือเผลอลบข้อมูล WordPress ยังมีฟังก์ชันรีสโตร์ (Restore) ที่ช่วยกู้คืนเนื้อหาเดิมได้อีกด้วย
  5. มีธีมให้เลือกเยอะ ดีไซน์สวยงาม
    WordPress มีธีมมากมายที่ออกแบบอย่างสวยงามให้เลือกใช้ หากคุณไม่มีไอเดียในการออกแบบเว็บไซต์ สามารถเลือกใช้เทมเพลตที่พร้อมใช้งานได้ทันที ช่วยให้การสร้างเว็บไซต์ที่สวยงามตามจินตนาการเป็นเรื่องง่าย
  6. ทำ SEO ได้ง่าย
    WordPress มีฟังก์ชันสำหรับการทำ SEO ที่ครบวงจร พร้อมด้วยโครงสร้างเว็บไซต์ที่เป็นมิตรกับการเก็บข้อมูลของ Google ทำให้การทำ SEO บน WordPress เป็นเรื่องง่าย แม้คุณจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้
  7. คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำศัพท์
    1. Opensource
      ซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงและใช้งานได้ฟรี โดยโค้ดของโปรแกรมจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ สามารถดาวน์โหลด นำไปแก้ไข และปรับปรุงได้ตามความต้องการ
    2. Plugin
      ส่วนขยายที่เพิ่มฟังก์ชันหรือความสามารถใหม่ๆ ให้กับเว็บไซต์ WordPress โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเพิ่มเติม
    3. Theme
      เทมเพลตที่ใช้สำหรับกำหนดลักษณะหน้าตาของเว็บไซต์ ทั้งในแง่ของการออกแบบและการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ
    4. SEO (Search Engine Optimization)
      การปรับแต่งเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับการค้นหาของเครื่องมือค้นหา เช่น Google เพื่อให้เว็บไซต์มีอันดับที่ดีขึ้นในการค้นหาและเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์

ใช้ WordPress สร้างเว็บอะไรได้บ้าง

แนะนำให้รู้จัก WordPress คือ

WordPress สามารถสร้างเว็บไซต์ได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่เว็บไซต์บริษัท, ร้านค้าปลีก, ไปจนถึงเว็บที่ซับซ้อนอย่าง Marketplace หรือคอร์สเรียนออนไลน์ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์บริษัทที่เน้นการแสดงข้อมูล (Information-based) หรือเว็บร้านค้าที่ขายสินค้าของตัวเองโดยเฉพาะ WordPress ทำได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการสร้างเว็บที่มีความซับซ้อนมาก เช่น Marketplace ที่มีผู้ขายหลายราย, การจัดการระบบที่ซับซ้อน, หรือเว็บประกาศขายบ้าน WordPress อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เหตุผลคือ:

  1. เว็บไซต์ร้านค้าเดี่ยว
    WordPress เหมาะกับเว็บที่ขายสินค้าของตัวเอง ซึ่งเราสามารถจัดการทุกอย่างได้เอง ตั้งแต่การโพสต์สินค้า การเก็บเงิน ไปจนถึงการจัดส่ง
  2. Marketplace
    เว็บที่มีผู้ขายหลายรายต้องการระบบที่ซับซ้อนขึ้น เช่น สิทธิในการจัดการสินค้า การตรวจสอบยอดเงิน การจัดส่ง ซึ่งทำให้ WordPress ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในลักษณะนี้
  3. ระบบซับซ้อน
    WordPress เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่พัฒนาร่วมกันทั่วโลก ซึ่งมีการเขียนธีมและปลั๊กอินหลากหลาย แต่เมื่อใช้งานร่วมกันอาจเกิดปัญหาการเข้ากันไม่ได้ของธีมและปลั๊กอิน ทำให้ระบบเกิดข้อผิดพลาดได้

ดังนั้น หากคุณต้องการสร้างเว็บไซต์บริษัทที่เน้นการแสดงข้อมูล หรือเว็บไซต์บริษัท WordPress จะเป็นทางเลือกที่ดี แต่หากต้องการระบบที่ซับซ้อน เช่น Marketplace คุณอาจต้องพิจารณาแพลตฟอร์มหรือโซลูชันอื่นที่เหมาะสมกว่าครับ

คำอธิบายเพิ่มเติม Marketplace (มาร์เก็ตเพลส) คือเว็บไซต์ที่อนุญาตให้ผู้ขายหลายรายนำสินค้ามาวางขายในที่เดียว เช่น Lazada หรือ Shopee ซึ่งต้องการระบบจัดการที่ซับซ้อนกว่าการขายสินค้าแบบร้านค้าเดี่ยว

ความแตกต่างระหว่าง
WordPress.com กับ WordPress.org

แนะนำให้รู้จัก WordPress คือ

WordPress มีให้เลือกใช้งาน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ WordPress.com และ WordPress.org ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การเข้าใจถึงความแตกต่างเหล่านี้จะช่วยให้คุณเลือกใช้ WordPress ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของคุณ

1.WordPress.com เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการครบวงจร (One Stop Service) ซึ่งรวมทุกสิ่งที่คุณต้องการในการสร้างเว็บไซต์ โดยคุณสามารถเริ่มใช้งานได้ฟรี ซึ่งเว็บไซต์ที่สร้างฟรีจะมีโดเมนเนมเป็น yourname.wordpress.com การใช้งานแบบฟรีนี้เหมาะสำหรับการสร้างเว็บบล็อกหรือเว็บที่เน้นการให้ข้อมูล ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของฟังก์ชันการทำงานและการปรับแต่ง หากคุณต้องการเว็บไซต์ที่มีชื่อโดเมนเป็นของตัวเอง คุณสามารถจดโดเมนผ่าน WordPress.com และอัปเกรดแพ็กเกจเป็นแบบเสียเงิน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 10,000 บาทต่อ 1 เว็บไซต์ โดยแพลตฟอร์มจะดูแลทุกอย่างให้ ทั้งการอัปเดตเครื่องมือและการรักษาความปลอดภัย

          • ข้อดี ของ WordPress.com คือ คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการอัปเดตหรือการดูแลระบบ เพราะทุกอย่างถูกจัดการโดยแพลตฟอร์ม
          • ข้อเสีย คือต้นทุนในการใช้งานแบบเสียเงินค่อนข้างสูง และหากคุณต้องการสร้างหลายเว็บไซต์ WordPress.com อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มค่านัก

2.WordPress.org เป็นซอฟต์แวร์ฟรีที่คุณสามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้สร้างเว็บไซต์ของคุณเอง แต่คุณต้องจดโดเมนและเช่าโฮสต์เอง จากนั้นจึงติดตั้ง WordPress ลงไป หมายความว่าคุณต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด

          • ข้อดี ของการใช้ WordPress.org คือมีต้นทุนที่ถูกกว่าการสร้างเว็บไซต์ โดยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ค่าโดเมนและค่าโฮสติ้งเท่านั้น ซึ่งโฮสติ้งเริ่มต้นส่วนใหญ่มักมีค่าใช้จ่ายเพียง 1,000 – 2,000 บาทต่อปี และสามารถสร้างเว็บไซต์ได้หลายเว็บภายใต้โฮสต์เดียวกัน
          • ข้อเสีย คือ คุณต้องจัดการทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ทั้งการติดตั้ง การอัปเดต การดูแลระบบ และการรักษาความปลอดภัย ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคพอสมควร

คำอธิบายเพิ่มเติม

  1. โดเมน (Domain Name)
    คือชื่อที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เราใช้เพื่อระบุ และเข้าถึงเว็บไซต์ เช่น www.yourbusiness.com โดเมนจะเป็นเอกลักษณ์และจดทะเบียนโดยไม่ซ้ำกับใคร
  2. โฮสติ้ง (Hosting)
    คือพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ที่เราเช่าเพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดของเว็บไซต์ เช่น ไฟล์ รูปภาพ และฐานข้อมูล โฮสติ้งมีหลายประเภทและราคาแตกต่างกันไปตามขนาดและความสามารถในการรองรับเว็บไซต์